ยาลดไข้ ใช้ในภาวะลมแดดได้หรือไม่

               ภาวะลมแดด หรือ Heat Stroke เป็นภาวะวิกฤติของร่างกาย ที่ไม่สามารถควบคุมสมดุลความร้อนในร่างกายได้ เกิดภาวะสูญเสียนํ้าและเกลือแร่อย่างรุนแรง สมดุลนํ้าและเกลือแร่ในร่างกายเสียหายอย่างมาก จนส่งผลให้ศูนย์ควบคุมอุณหภูมิในสมองทำงานแปรปรวน จนทําให้อุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศา ตัวร้อนจัด พูดสับสนไม่รู้เรื่อง เลือดมีความข้นหนืดมากขึ้น ทำให้เลือดที่มีนํ้าเป็นส่วนประกอบไปเลี้ยงสมอง กล้ามเนื้อ และอวัยวะ ต่าง ๆ ไม่เพียงพอ มีผลให้ระดับความดันเลือดตก จนอาจทำให้อวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว
                โดยปกติร่างกายสามารถปรับสมดุลความร้อนโดยการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางคือสมองส่วนของไฮโปทาลามัส ซึ่งมีการตอบสนองที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิร่างกาย โดยจะควบคุมการกำจัดความร้อนออกจากร่างกายร่วมกับกลไกต่าง ๆ เช่น การสูบฉีดโลหิตเพิ่มขึ้น การขยายหลอดเลือดเพื่อเพิ่มการไหลของเลือด การทำงานของต่อมเหงื่อเพื่อระบายความร้อนทางผิวหนัง

               ในภาวะปกติ การระบายความร้อนด้วยการขับเหงื่อมีประสิทธิภาพสูงกว่าการระบายความร้อนวิธีอื่น ๆ เช่น การเช็ดตัวด้วยน้ำเพื่อถ่ายเทความร้อน การเพิ่มอัตราการไหลเวียนอากาศรอบ ๆ เช่นการพัด หรือ ใช้พัดลม แต่ในกรณีที่อุณหภูมิของอากาศรอบ ๆ ใกล้เคียงกับอุณหภูมิในร่างกาย การขับเหงื่อจะมีประสิทธิภาพน้อยที่สุด ซึ่งพบว่า ในผู้ป่วยโรคลมแดดทั่วไปมักไม่มีเหงื่อออก ดังนั้นในกรณีนี้การระบายความร้อนด้วยวิธีถ่ายเทความร้อนจะมีประสิทธิภาพสูงกว่า การแก้ไขภาวะลมแดด จึงควรเร่งการระบายความร้อนและลดอุณหภูมิในร่างกาย เพื่อป้องกันความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยใช้การประคบเย็น หรือเช็ดตัวด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิของร่างกายจะช่วยระบายความร้อนได้ดี ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายได้เร็ว

               ยาลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล หรือยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ที่มีสรรพคุณในการลดไข้ บรรเทาอาการปวด และมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการสร้างพรอสตาแกลนดิน (สารที่ร่างกายสร้างขึ้นเมื่อเกิดไข้ หรือการอักเสบ) ในระบบประสาทส่วนกลาง และยับยั้งศูนย์ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายที่สมองส่วนไฮโปธาลามัส ทําให้หลอดเลือดส่วนปลายขยายและเพิ่มการไหลเวียนเลือด นอกจากนี้ยังมีผลลดความปวดผ่านกลไกอื่น ๆ ได้แก่ มีผลต่อเซโรโทนิน และโอปิออยด์ ยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ (nitric oxide) และ Substance P

               จะเห็นได้ว่าในกลไกการออกออกฤทธิ์ของยาลดไข้ไม่ได้ออกฤทธิ์ตรงกับสาเหตุการเกิดลมแดด และไม่สอดคล้องกับวิธีการปฐมพยาบาลผู้ป่วยในภาวะลมแดดซึ่งเป็นภาวะวิกฤติที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยการระบายความร้อนออกจากร่างกายโดยเร็วที่สุด  จึงไม่ควรใช้ยาลดไข้ในภาวะลมแดด

บทความโดย ภญ.ปิยภัค หิรัญรัศ

https://bangkokdrugstore.co.th/journal/journal.php?jid=592&fbclid=IwAR2BwuQbnOn5qwJ49tuOpnVhqbwr1C1OiYTznxCzehnbn8i51xHka506obw