สกัดโรงพยาบาลขูดรีด พาณิชย์จัดให้นำราคายาใหม่ขึ้นเว็บไซต์

“จุรินทร์” สั่งเดินหน้าดูแลราคายา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ต่อเนื่อง หลังมาตรการที่ผ่านมา ทำราคายาของโรงพยาบาลเอกชนลดลงได้ ขณะที่กรมการค้าภายในเตรียมเพิ่มรายการยา ที่จะให้ประชาชนตรวจสอบราคา ในเว็บไซต์ www.dit.go.th เพิ่มขึ้น จ่อคิวถก อย.-สธ. กำหนดรายการยาใหม่

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปีนี้กระทรวงพาณิชย์จะยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภคในการใช้บริการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน โดยได้สั่งการให้กรมการค้าภายในดำเนินการแล้ว

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ปัจจุบันราคายา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนในภาพรวมลดลงจากอดีตมาก ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินการของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งการนำยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เข้าสู่บัญชีสินค้าและบริการควบคุม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 รวมถึงการออกมาตรการกำกับดูแลต่างๆ อย่างกำหนดให้โรงพยาบาล ผู้ผลิต ผู้นำเข้าแจ้งต้นทุนราคายา ต้นทุนการนำเข้ามาให้กรม เพื่อวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุน

รวมถึงการจัดทำคิวอาร์โค้ดยาที่จำเป็นแต่ละชนิด และเผยแพร่ราคายาผ่านเว็บไซต์กรมการค้าภายใน www.dit.go.th เพื่อให้ประชาชน ได้ตรวจสอบ และเปรียบเทียบราคายาแต่ละชนิด ของโรงพยาบาลเอกชนกว่า 300 แห่ง ได้ก่อนไปใช้บริการ หรือการมอบประกาศนียบัตรให้กับโรงพยาบาลเอกชนในกลุ่มสีเขียว ที่คิดราคายาไม่แพง หรืออนุเคราะห์ผู้ป่วย 164 แห่ง เป็นต้น

“ในปีนี้ กรมจะเร่งเพิ่มฐานข้อมูลรายการยาชนิดใหม่ๆในเว็บไซต์กรมให้มีมากกว่าเดิม เพื่อให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบราคาได้ก่อนไปใช้บริการในโรงพยาบาล โดยจะเน้นยาที่จำเป็น ยาที่ประชาชนใช้มากๆ และยาสามัญ ซึ่งจะต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ เพื่อกำหนดรายการยาที่จะเพิ่มเติม”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้ออกประกาศให้ยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าและบริการควบคุม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ตั้งแต่ต้นปี 2562 เพราะได้รับการร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมากว่า โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ คิดราคายา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์สูงเกินจริง ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากเดือดร้อน

นอกจากนี้ยังได้กำหนดมาตรการกำกับดูแลต่างๆ เช่น ให้โรงพยาบาลเอกชน ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายส่ง ต้องแจ้งราคาซื้อ-ราคาจำหน่ายยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการ ตามรายการที่อยู่ในบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ (UCEP) ซึ่งภายหลังการจัดส่งมาให้แล้ว กรมได้นำมาวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุน และพบว่ามีการคิดราคาสูงเกินจริงตั้งแต่ 30-300%, ให้โรงพยาบาลเอกชนแสดงคิวอาร์โค้ดยา (ข้อมูลเปรียบเทียบราคาจำหน่ายยา ที่กรมจัดทำไว้อย่างเปิดเผยผ่านเว็บไซต์กรม) ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้โดยสะดวก

ขณะเดียวกัน ยังกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนประเมินค่ารักษาเบื้องต้นให้ผู้ป่วยทราบ และแจ้งราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยทราบ ก่อนจำหน่ายหรือให้บริการ, กรณีที่ผู้ป่วยจะซื้อจากภายนอก โรงพยาบาลต้องออกใบสั่งยาตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม และใบแจ้งราคายา ให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้า เป็นต้น.

https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/2014591