ระดมทุนวิจัย 'วัคซีน' โควิด สิงคโปร์ฉีดก่อน-ไทยสั่งซื้อแล้ว!

การแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกครั้งในไทย เป็นสัญญาณเตือนที่ต้องเร่งวิจัยและผลิตวัคซีนที่ทำขึ้นเอง จึงได้มีการระดมทุนขอรับบริจาคในการวิจัยวัคซีนที่เป็นอีกทางเลือกให้กับคนไทย
 

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกครั้งในไทย เป็นสัญญาณเตือนที่ต้องเร่งวิจัยและผลิตวัคซีนที่ทำขึ้นเอง เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ ต่อมาได้มีการระดมทุนขอรับบริจาคในการวิจัยวัคซีนที่เป็นอีกทางเลือกให้กับคนไทย แม้ว่าปัจจุบันทั่วโลกจะเริ่มทดลองใช้วัคซีนในมนุษย์กันบ้างแล้ว
 

ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์ประจำคณะเภสัช ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้ง CEO และ Co-founder ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด กล่าวว่าปัจจุบันทีมงานกว่า 30 คน เดินหน้าการวิจัยอย่างหนักมาตั้งแต่เดือน ก.พ. 63 ซึ่งการวิจัยวัคซีนจากใบยาสูบ ถือเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ โดยตอนนี้ได้นำวัคซีนไปทดลองในสัตว์วิจัยพบว่า ได้ผลดี ขั้นตอนต่อไปจะทดลองในคน และคาดว่าจะผลิตวัคซีนได้ในปลายปี 64 ทุกวันนี้เราเห็นแล้วว่า บางประเทศที่ผลิตวัคซีนได้ เริ่มฉีดให้กับคนทั่วไป แน่นอนว่าเขาต้องผลิตให้เพียงพอกับคนในประเทศก่อน ขณะที่ไทยก็ต้องรอว่าเมื่อไหร่จะได้ ดังนั้นถ้ามัวแต่เฝ้ารอ เราจะไม่มีความมั่นคงในเรื่องวัคซีน

ดังนั้นจึงมีการระดมทุนจากประชาชนเพื่อสร้างโรงงานในการผลิตมูลค่า 500 ล้านบาท ซึ่งโรงงานดังกล่าวมีความสำคัญและสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนให้กับประเทศ เพราะถ้าโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ เราสามารถวิจัยและปรับเปลี่ยนวัคซีนให้ต่อต้านได้ ขณะเดียวกันในอนาคตอาจมีการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดอื่น การผลิตวัคซีนได้เองจะสามารถวิจัยและผลิตได้ทันที นอกจากนี้วัคซีนที่ได้จากใบยาสูบ มีการวิจัยมาแล้วว่ามีผลต่อต้านมะเร็ง ซึ่งโรงงานที่กำลังระดมทุน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ด้านนี้ได้

ตอนนี้มีกระแสจากโซเชียลที่ยังไม่เข้าใจถึงเงินที่ระดมทุน โดยที่ผ่านมาภาครัฐมีการสนับสนุนทุนบางส่วน แต่ยังไม่เพียงพอ แม้จะมีการรับปากจากผู้ใหญ่ในกระทรวงฯ ว่าจะให้เงินมาสนับสนุน แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ เพราะการพัฒนาวัคซีนจะรอไม่ได้ โดยก่อนหน้านั้นมีเอกชนที่ยื่นข้อเสนอว่าจะให้ทุนหรือบางบริษัทให้เราไปตั้งโรงงานที่สิงคโปร์ แต่ความตั้งใจของทีมงานไม่ต้องการจะวิจัยวัคซีนเพื่อมาหากำไร แต่เราต้องการสร้างความมั่นคงให้กับคนไทย จึงได้เซ็นสัญญาตกลงกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าถ้าผลวิจัยสำเร็จจะขายวัคซีนให้ในราคาต้นทุน
 

“หากผลการทดลองสำเร็จในปลายปี 64 จะผลิตได้เพียงพอ และจำหน่ายในราคาต้นทุนโด๊สละ 500 บาท ถ้าเทียบกับวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทยาต่างประเทศจำหน่ายโด๊สละ 1,000 บาท ซึ่งการผลิตวัคซีนได้เอง จะฉีดให้กับคนไทยได้ทั่วถึง และเงินตราไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ สำหรับการบริจาคนั้นเราตั้งเป้าไว้คนละ 500 บาท 1 ล้านคน หากผลการวิจัยสำเร็จ วัคซีน 1 ล้านโด๊สแรกจะฉีดให้กับผู้บริจาค ก่อนจะกระจายให้หน่วยงานรัฐและเอกชนต่อไป แม้จะไม่มีการรับรองว่าวัคซีนจะสำเร็จหรือไม่ แต่อยากให้คนไทยมีส่วนร่วม และสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนเพื่อฝ่าวิกฤตินี้” ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าว
 

สถานการณ์วัคซีนโควิด-19 ในต่างประเทศ

สำหรับความเคลื่อนไหวในประเทศ ดูมีความหวังอย่างมาก เริ่มกระจ่างชัดขึ้นมาเรื่อย ๆ หลังบริษัทยายักษ์ใหญ่หลายแห่งต่างผลิตวัคซีนออกมา และทดลองใช้กันมา ปรากฏว่าวัคซีนที่ถูกทดลองเหล่านี้มีประสิทธิภาพในการจัดการโควิด-19 ถึงร้อยละ 90 ขึ้นไป จนเริ่มมีการนำมาทดลองใช้กับคนทั่วไปแล้ว คาดการณ์ว่าปีหน้าวัคซีนจะถูกแจกจ่ายไปยังหลายประเทศเพื่อให้คนได้เข้ามาฉีดกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น

โดยบริษัทไฟเซอร์ไบโอเทค สัญชาติอเมริกัน ได้ร่วมทำวิจัยกับบริษัทเยอรมันคิดค้นวัคซีนจัดการโควิด-19 มีประสิทธิภาพถึงร้อยละ 95 จนองค์กรอาหารและยาของอเมริกา อนุมัติให้สามารถนำวัคซีนนี้แจกจ่ายไปในประเทศได้แล้ว สำหรับวัคซีนของบริษัทดังกล่าวจะต้องฉีด 2 ครั้ง โดยการทดลองครั้งแรกประสบความสำเร็จสูงมาก เพราะอาสาสมัครที่ถูกฉีดไม่มีภาวะแทรก ซ้อน การทดลองวัคซีนตัวนี้มีการฉีดในประชาชน หลากหลายสีผิว รวมถึงฉีดไปยังอาสาสมัครที่เป็นคนแก่ ป่วยเป็นเบาหวานและโรคอ้วน ได้ผลเป็นที่น่าพอใจมากไม่มีผลข้างเคียงหรืออันตรายแต่อย่างใด

ส่วนทางอังกฤษ ได้นำมาใช้ฉีดกับประชาชนแล้วเป็นชาติตะวันตกประเทศแรกที่ทำแบบนี้ หลังจากวัคซีนถูกทดลองต่ออาสาสมัครเท่านั้น โดยผู้ได้รับการฉีดวัคซีนคือ นายวิลเลี่ยม เช็กสเปียร์ วัย 81 ปี ถือเป็นคนแรกที่ได้รับการฉีดวัคซีนท่าม กลางความสนใจของสื่อมวล ชน ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกก็ตกลงที่จะสั่งวัคซีนตัวนี้เพื่อนำมาใช้กับประชาชน
ของตัวเองกันแล้ว โดยมีบาห์เรน แคนาดา และซาอุดี อาระเบียอนุมัติให้ใช้วัคซีน ได้ทันที คาดกันว่าวัคซีนดังกล่าวจะส่งกระจายไปทั่วโลกกว่า 1.3 พันล้านโด๊ส จนถึงสิ้นปีหน้า

ในขณะที่วัคซีนจากอีกบริษัทที่น่าสนใจ คือ บริษัทโมเดอร์นา ซึ่งได้รับการอนุมัติจากองค์กรอาหารและยาของอเมริกา ตัวที่ 2 ต่อจากบริษัทไฟเซอร์ให้สามารถใช้ได้ ทั้งนี้อเมริกาได้ให้เงินทุนสนับสนุนการค้นคว้าแก่บริษัทเป็นวงเงินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยร่วมมือกับสถาบันสุขภาพแห่งชาติ พวกเขามีการทดลองวัคซีนตัวนี้มาตลอด จนพบว่าลิงที่ได้รับวัคซีนมีภูมิคุ้มกันจากโควิด-19 ได้ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา จึงมีการทดลองกับมนุษย์และทดลองกับอาสาสมัคร 30,000 คน ในเดือน ก.ค. จนถึงกลางเดือน พ.ย.ผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ มีประสิทธิภาพถึงร้อยละ 94 สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงเริ่มทดลองวัคซีน โดยหลังจากฉีดไปแล้ว อาสาสมัครยังมีภูมิคุ้มกันป้องกันต่ออีก 3 เดือนด้วย ตอนนี้มีการสั่งวัคซีนจากบริษัทดังกล่าวในอเมริกากว่า 100 ล้านโด๊ส ซึ่งทางญี่ปุ่นก็ได้สั่งวัคซีนตัวนี้มาใช้ 50 ล้านโด๊ส เช่นกัน

ข้ามฟากมาที่เมืองจีนได้พัฒนาวัคซีนขึ้นมา โดยความร่วมมือของบริษัทเอกชนกับหน่วยงานวิจัยของกองทัพ ซึ่งอนุมัติให้ใช้วัคซีนตั้งแต่ 25 มิ.ย.63 สำหรับบุคคลที่ต้องการยาเป็นพิเศษ แต่การทดลองอยู่ระหว่างการวิจัยเรื่อยมา โดยมีซาอุดีอาระเบีย ปากีสถานและรัสเซียสั่งจองวัคซีนแล้ว ทั้งนี้รัสเซียก็มีการทดลองวัคซีนเช่นกัน แต่ยังมีความเสี่ยงเพราะพบว่าวัคซีนของรัสเซียเกิดผลข้างเคียงต่ออาสาสมัคร และการพยายามเร่งตัวยาออกสู่สนาม สร้างความกังวลให้กับหลายฝ่าย
 

คนสิงคโปร์ได้วัคซีนฟรี! ก่อนเพื่อน

สำหรับในอาเซียนนั้น เวียดนามเริ่มทดลองวัคซีนที่ผลิตค้นคว้าเองในวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยอยู่ในช่วงระยะแรกของการทดลอง คาดว่าจะสามารถใช้งานได้กลางปีหน้า ตั้งเป้าผลิตให้ได้ถึง 100 ล้านโด๊ส เพื่อใช้ในประเทศและอาจจะส่งออกไปต่างประเทศด้วย แต่ในช่วงระหว่างทดลองวัคซีน เวียดนามได้พูดคุยหาข้อตกลงนำเข้าวัคซีนจากอเมริกา รัสเซีย จีน และอังกฤษมาใช้กับชาวเวียดนาม ไปก่อน

ขณะที่สิงคโปร์เป็นชาติแรกในอาเซียน ที่นำเข้าและรับรองวัคซีนจากไฟเซอร์มาใช้ โดยวัคซีนจะมาถึงสิ้นเดือนธ.ค.นี้ ด้วยงบประมาณถึง  1 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยก่อนหน้านี้สิงคโปร์ได้ทดสอบวัคซีนจากไฟเซอร์ วัคซีนของบริษัทโมเดอร์นาและของจีน ก่อนสรุปผลตกลงสั่งวัคซีนของไฟเซอร์ คาดว่าวัคซีนจะถูกนำไปใช้กับคนสิงคโปร์ทุกคนได้รับการฉีดครอบคลุมหมดในไตรมาส 3 ของปีหน้า

โดยผู้นำและรัฐมนตรีสิงคโปร์จะฉีดนำร่องก่อนเพื่อแสดงให้เห็นว่าวัคซีนปลอดภัย หลังจากนั้นจะถูกนำไปใช้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข คนสูงอายุและอาสาสมัคร แล้วนำไปใช้กับประชาชนทั่วไป โดยคนสิงคโปร์จะได้รับวัคซีนฟรี! รวมทั้งชาวต่างชาติที่พำนักในสิงคโปร์มานานจะได้รับการฉีดวัคซีนฟรี! เช่นกัน

ทางด้านประเทศไทย ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 63 อนุมัติให้จองซื้อวัคซีนโควิด-19 จากบริษัทแอสตราเซนเนกา จำนวน 26 ล้านโด๊ส วงเงิน 6,049,723,117 บาท ครอบคลุมคนไทยร้อยละ 20 ของประชากร หรือ 13 ล้านคน ทั้งนี้หากไม่รีบจองซื้อ เมื่อถึงวันที่วัคซีนสำเร็จอาจไม่ได้มาหรืออาจต้องจ่ายในราคาต้นทุนถึงโด๊สละ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งยังไม่รู้ว่าวัคซีนจะมาเมื่อไหร่ แต่ในช่วงที่รอวัคซีนก็ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยกันไปก่อน.
... อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/article/814533